Friday, November 27, 2009

เศรษฐศาสตร์จุลภาคต่างจากมหภาคอย่างไร

คำว่า "เศรษฐศาสตร์จุลภาค" (MICROECONOMICS) และ "เศรษฐศาสตร์มหภาค" (MACROECONOMICS) ถูกใช้บ่อยในปัจจุบัน จนเสมือนกับเป็นคำที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน สำหรับหลายท่านที่ไม่คุ้นเคย กับเรื่องเศรษฐศาสตร์ คงงงอยู่เหมือนกัน วันนี้จะเขียนถึงคำสองคำนี้ เพื่อพยายามให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

ขอเริ่มที่ว่า หลายวิชานั้นศึกษาในหลายระดับ ตัวอย่างเช่น ชีววิทยา พวกที่ศึกษาส่วนประกอบ ของสารเคมี ซึ่งประกอบกันเป็นสิ่งมีชีวิต เราเรียกว่า MOLECULAR BIOLOGISTS ส่วนพวกที่เรียกว่า CELLULAR BIOLOGISTS เป็นพวก ที่ศึกษาในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารเคมีเหมือนกัน โดยตัวมันเองก็ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งมีชีวิต ส่วนพวกที่เรียกว่า EVOLUTIONARY BIOLOGISTS นั้น ศึกษาสัตว์ และพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศึกษาการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์ เหล่านี้ข้ามเวลา

วิชาเศรษฐศาสตร์ ก็เช่นกัน มีกาศึกษาในหลายระดับ หากศึกษาในระดับย่อย เช่น ศึกษากระบวนการตัดสินใจของแต่ละคน และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ศึกษาการจัดสรรทรัพยากร ( คำนี้ฟังดูใหญ่โต จริง ๆ แล้ว ก็คล้ายกับตัวอย่างหนึ่งที่ หากแบ่งที่ดิน ส่วนใหญ่ไว้ปลูกมะม่วง ก็จะเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยไว้ปลูกบ้าน คำถามก็คือ จะจัดสรรอย่างไร และศึกษาว่าราคาผลผลิต ถูกกำหนดราคามาได้อย่างไร ฯลฯ ก็คือการศึกษาในส่วนที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค

หากศึกษาในระดับรวม หรือระดับใหญ่ เช่นศึกษาการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ศึกษาการเกิดขึ้นของการว่างงาน ของระบบเศรษฐกิจ ศึกษาการเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยทั่วไป ( เงินเฟ้อ ) หรือศึกษาระบบเศรษฐกิจโลก ฯลฯ ก็คือ การศึกษาในส่วนที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค

การศึกษาจุลภาค และมหภาค ก็เปรียบเสมือนกับการศึกษาต้นไม้ (จุลภาค) กับการศึกษาป่า (มหภาค) หรืออุปมาว่า เครื่องมือของเศรษฐศาสตร์มหภาค ก็คือกล้องส่องทางไกล ในขณะที่เครื่องมือของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ก็คือกล้องจุลทรรศน์

ถ้าศึกษาเรื่องผลผลิตของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง ก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์จุลภาค อย่างไรก็ดี ถ้าเอาผลผลิตทั้งหมด ของทุกหน่วยผเศรษฐกิจในประเทศมารวมกัน ก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือถ้าศึกษาเรื่องราคาของผลผลิตในตลาดหนึ่ง ก็คือเศรษฐศาสตร์จุลภาค

แต่ถ้าศึกษาราคาของสินค้าทั่วไป ( ซึ่งก็คือ การเอาราคาของสินค้าในตลาดต่าง ๆ ทั้งหมด มาพิจารณาร่วมกัน ก็คือ เศรษฐศาสตร์มหภาค

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ในระดับย่อย คือจุลภาคนั้น มีสามเป้าหมายหลัก ซึ่งได้แก่ (1) ประสิทธิภาพ (EFFICIENCY) (2)ความเท่าเทียมกัน (EQUITY) (3) เสรีภาพ (FREEDOM)

ในเรื่องที่ ( 1) เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ จะมีการสูญเปล่าของทรัพยากรน้อยที่สุด และจะทำให้เกิดมาตรฐาน การครองชีพ ที่สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แก่ผู้บริโภค

เรื่อง (2) ก็คือ ช่องว่างที่ใหญ่ระหว่าง คนรวย และคนจน อาจทำให้คนส่วนใหญ่ ยิ่งยากจนลง และคนส่วนน้อยยิ่งรวยขึ้น

และเรื่อง (3) ก็คือการที่ประชาชน มีทางเลือกอย่างกว้างขวางมากที่สุด

ในสามเป้าหมายหลักนี้ EFFICIENCY เป็นเป้าหมายหลัก ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ในขณะที่ EQUITY และ FREEDOM นั้นมีปัญหา โดยมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากเกี่ยวพันกับการใช้ความรู้สึกส่วนตัว มาตัดสินว่า อย่างไรจึงเรียกว่า เกิดความไม่เท่าเทียมกัน และอย่างไรจึงเรียกว่า ประชาชนมีทางเลือกอย่างกว้างขวาง

ทั้งสามเป้าหมายหลักนี้เกี่ยวพันกับการ "ได้อย่าง เสียอย่าง (TRADE-OFF)" ทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น นโยบายที่เน้นประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เช่นการให้สิทธิบัตรแก่คนคิดค้น วัคซีนโรคเอดส์ ก็คือนโยบายเน้นประสิทธิภาพ ( จะมีคนลงทุน แข่งขันกันคิดค้นวัคซีน) แต่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เพราะเฉพาะคนมีเงิน จึงจะได้ วัคซีน แต่ถ้านับความเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้สิทธิบัตร คือทุกคนจะได้วัคซีนฟรี อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องซื้อวัคซีน ก็จะยากที่จะเกิดขึ้นได้

สำหรับเสรีถาพ กับประสิทธิภาพนั้น ก็ขัดแย้งกัน เช่น ถ้าให้เสรีภาพในการล้มละลายของบริษัท สถาบันการเงิน ก็จะลำบากขึ้น จนอาจเป็นอุปสรรค ต่อการกู้ยืมของคนอื่น ๆ และเกิดการผลิตของสังคมน้อยลงในที่สุด

" การได้อย่าง เสียอย่าง " นี่แหละ ที่ทำให้ แต่ละสังคม ต้องออกกฎหมาย เพื่อควบคุม ดูแลให้เกิดความสมดุล ของสามเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้อง กับความต้องการของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ

สำหรับระดับมหภาคนั้น มีสามเป้าหมายหลักซึ่งได้แก่ (1) การจ้างงานสูง (การว่างงานต่ำ) ( 2) ระดับราคาสินค้า มีเสถียรภาพ และ (3) การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ

เป้าหมายในเรื่องการจ้างงานสูง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้คนมีงานทำ มีการผลิต ไม่ปล่อยให้ เครื่องมือเครื่องจักร ถูกทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ ส่วนเป้าหมายระดับราคาสินค้ามีเสถียรภาพนั้น ทำให้ผู้บริโภค มีความมั่นใจในอำนาจซื้อของตน สามารถวางแผนได้ว่าจจะบริโภคในปัจจุบัน หรือออมเพื่ออนาคต และเป้าหมายสุดท้าย คือเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตนั้น จะทำให้ประชาชนโดยรวมมีรายได้สูงขึ้น และลูกหลานมีความมั่นคงในฐานะมากกว่าตัวเขา

หากบรรลุเป้าหมายข้างต้น ก็หมายถึงการมี "ความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ (ECONOMIC SECURITY) ของบุคคลในระดับมหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค ผูกโยงงกันอย่างใกล้ชิด การจะบรรลุซึ่งเป้าหมายหลัก ในระดับมหภาคได้นั้น ขึ้นอยู่กับการบรรลุเป้าหมายหลักในระดับจุลภาค

และเช่นกัน ในทางกลับกัน ตัวอย่างเช่นการว่างงานอย่างหนัก ก็คืออาการของการขาดประสิทธิภาพ ในระดับจุลภาค

กล่าวคือ เมื่อทรัพยากรในระดับจุลภาคถูกใช้งานอย่างขาดประสิทธิภาพ (มีแรงงานประเภท "เหมอมองนอกหน้าต่าง" จำนวนมาก ) ต้นทุนจึงสูง ขายสินค้าไม่ออก ไม่มีรายได้ ฯลฯ ถ้าเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในชีวิต ก็ทำให้ขาดอำนาจซื้อโดยรวม ไม่มีใครผลิตสินค้ามาสนองาตอบ ซึ่งก็หมายถึง ทำให้เกิดการว่างงานในระดับมหภาคขึ้นนั่นเอง

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในระดับมหภาค จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการแก้ไขในระดับจุลภาคด้วย เช่นถ้าในระดับมหภาค ประเทศไม่มีเงินออมในประเทศอย่างทัดเทียมกับเงินที่สังคม ต้องการลงทุน ก็จำต้องกู้ยืมจากต่างประะทศอย่างไม่จบสิ้น จนหนี้ต่างประเทศพอกพูน หากต้องการแก้ไข ความไม่สมดุลของเงินออม กับเงินลงทุน ก็จำต้องแก้ไขที่ระดับจุลภาค โดยพยายามสร้างค่านิยมให้ประชาชนแต่ละคนมีความมัธยัสถ์ รู้จักใช้เงินจนมีเงินออมเพิ่มขึ้น และเมื่อรวมเงินออมทั้งหมดเหล่านี้ เข้าด้วยกันแล้ว การออมในระดับมหภาคก็เป็นสองส่วน การออมในระดับ มหภาคก็เกิดขึ้นได้อย่างทัดเทียนกับการลงทุนที่ต้องการ

ถึงแม้เศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค จะเชื่อมโยงถึงกันดังกล่าว แต่ทั้งสองก็เป็นสองส่วนวิชาเศรษฐกิจที่แยกขาดจากกัน เพราะต่างก็ตั้งถามทีแตกต่างกัน

และบางครั้ง ก็มีแนวทางการศึกษา ที่แตกต่างกันอีกด้วย

No comments:

Post a Comment